ทัศนัย VS ธงชัย ปอกความหมาย ‘มหรสพสังคมไทย’

ทัศนัย VS ธงชัย ปอกความหมาย ‘มหรสพสังคมไทย’ ในความเงียบงัน 70 ซ้อนชั้น งานศิลปะที่ต้องตีความไม่ต่ำกว่า 300 ปี

กลายเป็นภาพคุ้นชินของคนในแวดวงศิลปะ เมื่อเสียงที่เปล่งผ่านชิ้นงาน ‘แหลมคมเกินไป’ ก็มักจะถูกเบลอไม่ให้สื่อไปถึงสาธารณะ ไร้สิทธิเฉิดฉายในหอศิลป์ ซึ่งล่าสุด ลามไปถึงสถานที่จัดของเอกชน

สังคมวันนี้

แต่มีงานหนึ่งจงใจเซ็นเซอร์ตัวเอง “เงียบ แต่เสียงของงานเปล่งแทน”

ไม่นานมานี้ เกิดการปะทะกันของนักเชี่ยวชาญศาสตร์ 2 แขนง ทั้งศิลปะและประวัติศาสตร์ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน เดินทางมาร่วมทัศนาสงครามเย็นครั้งที่ 1 กับเจ้าของผลงานที่ติดหรากลางพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม อย่าง ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะฯ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่

ทั้งสองใช้กระบวนการอันคล้ายคลึงบางอย่าง ‘อ่าน’ ให้เข้าถึงแก่นของความสงัด แล้วค่อยๆ เผยมุมมองผ่านเสวนา ห้วงขณะอันลึกลับแห่งความเงียบงัน (The mysterious moment of silence) ซึ่งจัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม และสาขาวิชาสื่อศิลปะฯ มช. ศิษย์เก่า นักกิจกรรม นักศึกษาชาวไทยและนานาชาติ คณาจารย์สายศิลปะทั้งไทย-เทศ กลุ่มศิลปิน ตลอดจนประชาชน เข้าชมล้นหลาม

‘สงครามเย็น’ มีเรื่องเยอะกว่าที่เห็น

เพราะถูกปิดปากไม่ให้พูดในที่สาธารณะ เพราะมีสิ่งที่คิดแต่ไม่อาจส่งเสียง ‘ปฏิบัติการทางศิลปะ’ จึงกลายเป็นช่องที่เปิดพื้นที่ร่วมสะท้อนความเห็น เป็นแนวหน้าส่งคำถามให้ผู้คนลุกขึ้นทายท้าอำนาจ และคือสาเหตุหนึ่งของการจัดงานนี้

ในฐานะผู้รังสรรค์ชิ้นงานใหม่ ทัศนัยออกตัวว่า ไม่อยากให้สิ่งที่พูดเป็นการชี้นำความคิด แม้บางวันอยากพูด แต่พอจะเริ่มกลับท้อใจ เพราะมีหลายสิ่งเกี่ยวเนื่องอีนุงตุงนัง ไม่มีทิศทางชัด เริ่มต้นแล้วไปจบจุดใด ใช้การอ้างอิงขนาดไหนจึงจะสื่อสารให้เข้าใจได้ “สงครามเย็น มีเรื่องเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันด้านอวกาศ การช่วงชิงอำนาจและศีลธรรมทางการเมือง ฝั่งสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ กับฝั่งเสรีนิยม เกี่ยวข้องกับอุดมคติคริสเตียนที่สังคมไทยน้อมนำมาใช้ แล้วเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาในที่สุด เกี่ยวข้องกับการกีฬา เรื่องภาพโป๊เปลือย ยาเสพติด ของเล่น มากมาย สิ่งที่เห็นภายใต้สงครามเย็น เกี่ยวข้องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ทัศนัยย้อนขุดความรู้สึกที่ปะทุหลังผ่านพ้นเหตุการณ์รัฐประหารในไทยมาหลายหน ทะลุปล้องกรอบความคิดต่างๆ เชื่อมโยงภาพกว้างจนกลายเป็นแรงผลักดันบางอย่างโหมลงไปเล่าผ่านงาน และหวังว่าถ้าสื่อสารสำเร็จ จะช่วยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) ของสังคมและยุคสมัยได้ เหมือนที่ ‘การเขียน’ ทำ หยอดมุข ต้องตีความไม่ต่ำว่า 300 ปี นานาสัญลักษณ์ ซ่อนใน 70 ชั้น ในนิทรรศการ “ห้วงขณะอันลึกลับแห่งความเงียบ” ทัศนัยได้ซ่อนสัญลักษณ์ต่างๆ มากมายไว้ในเลเยอร์ของผลงาน ยากจะอธิบาย ถึงขั้นพูดเล่นๆ กับเพื่อนว่า งานนี้ต้องใช้เวลาตีความถึง 300 ปี