รพ.พระนครศรีอยุธยา พัฒนาบริการ ดึงเทคโนโลยี ‘Telemedicine’ ดูแลผู้ป่วย-ผู้ต้องขัง
ในช่วงที่ระบบสุขภาพพยายามเอาตัวรอดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนั้น ก็ได้เกิดบริการสุขภาพใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อดูแลรักษาชีวิตประชากรให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น “Telemedicine” ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือการรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) ช่วงที่เตียงว่างในโรงพยาบาลมีค่าไม่ต่างจากทอง
เมื่อกาลเวลาผ่านไปโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ แม้ว่าภายใต้สถานการณ์ของโควิด-19 จะคลี่คลายลงไปพร้อมๆ กับการทิ้งร่องรอยความสะบักสะบอมเอาไว้ในระบบสุขภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 คือตัวเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขของไทย
“โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดึงระบบ Telemedicine มาใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งรักษาตัวที่บ้านและชุมชนแบบครบวงจร จนขยายต่อยอดออกมาใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างครอบคลุม สะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้
นพ.โชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ศูนย์บริการการแพทย์ทางไกลโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยานั้นสืบเนื่องมาจากนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) และปลัด สธ. ที่อยากให้สถานพยาบาลต่างๆ พัฒนารูปแบบบริการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการดูแลผู้ป่วย ภายใต้แนวคิดการทำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนบริการ ซึ่งโรงพยาบาลฯ ก็ได้ดำเนินการเรื่องศูนย์การแพทย์ทางไกลมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เช่น การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบ HI
สำหรับบริการแพทย์ทางไกลในเบื้องต้นจะมีการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญและสามารถเข้าถึงบริการได้ก่อน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 หรือผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเรื่องโรคไต รวมไปถึงผู้ป่วยจิตเวช และกลุ่มผู้ป่วยในเรือนจำ ซึ่งในอนาคตก็จะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามความสำคัญและจะขยายให้ครอบคลุมเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ สามารถดูแลต่อเนื่องได้ดียิ่งขึ้น และจะสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ ในระยะยาวได้
พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรคไตเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง หากสามารถตรวจติดตามและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยได้ก็อาจจะช่วยชะลอไตเสื่อม และลดค่าใช้จ่ายได้ แต่อีกหนึ่งกลุ่มที่สนใจนั่นก็คือการติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานนั้นเป็นโรคตั้งต้นของหลายๆ โรค เช่น เบาหวานลงไต เบาหวานขึ้นตา เบาหวานที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
“คนไข้เบาหวานตอนนี้มีความรู้ก็สามารถเจาะน้ำตาลได้ที่บ้าน มีการวิดีโอคอลคุยกับคนไข้ และดูค่าน้ำตาล ปกติถ้ามาตรวจกับหมอก็อาจจะนัด 3 เดือนครั้ง อาจจะเจอหมอ 5 นาทีกลับบ้านเพราะคนไข่แน่นในโรงพยาบาล แต่ถ้าเราวิดีโอคอลคุยกันก็สามารถคุยกันได้บ่อย ตรวจติดตามได้บ่อยก็จะมีผลทำให้คุมน้ำตาลได้ดีขึ้น” พญ.เสาวลักษณ์ ระบุ
กระบวนการต่อไปก็คือสามารถสั่ง และส่งยาผ่านทางไปรษณีย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งยาตัวเดิม หรือยาตัวใหม่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี การแพทย์ทางไกลเองก็ยังมีอุปสรรคนั่นก็คือไม่สามารถตรวจร่างกายได้ และอาศัยประเมินตามที่ผู้ป่วยบอกเท่านั้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นภาวะฉุกเฉิน เช่น ปวดท้อง การตรวจร่างกายไม่ได้ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเสี่ยง เพราะอาการปวดท้องอาจมาจากไส้ติ่ง ฯลฯ และอาจจะเสี่ยงทำให้ไส้ติ่งแตกได้ ซึ่งกลุ่มที่เป็นภาวะฉุกเฉินก็จะมีการแยกให้คำปรึกษา และให้ผู้ป่วยเข้ามาตรวจที่โรงพยาบาล
นอกเหนือจากการตรวจติดตามผู้ป่วยบางกลุ่มโรคแล้วนั้น ระบบแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาก็ได้แผ่ขยายเข้าสู่เรือนเพื่อตรวจติดตามอาการของผู้ป่วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางอีกด้วย
นพ.ธาตรี โบสิทธิพิเชฏฐ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำอำเภอพระนครศรีอยุธยาประมาณ 6,000 คน ซึ่งผู้ต้องขังจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการเข้าถึงบริการ ฉะนั้นจึงได้เลือกบริการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เข้ามาร่วมให้บริการผู้ป่วย ซึ่งจะดูแลอยู่ 2 กลุ่มหลัก นั่นก็คือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ฯลฯ ที่จำเป็นต้องใช้การพูดคุยเพื่อซักประวัติ ปรับยา และอีกหนึ่งกลุ่มนั่นก็คือผู้ป่วยจิตเวช